Friday, April 24, 2009

โอกาสทางการศึกษา


ใน ระดับมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นเมืองไทยจะต้องสอบแข่งขันเพื่อแย่งที่นั่ง ที่เรียนกันวุ่นวาย นักเรียนต้องเครียดกับการสอบเอนทรานซ์ เฮ้อ...ช่างเป็นระบบที่เครียดจริงๆ ผิดกับที่อเมริกา ที่โอกาสทางการศึกษามีมากมาย นักเรียนขา...มาถึงอเมริกาทั้งที มาหาสาระ+ บันเทิงกับการเรียนกันเถอะ

เมื่อแรกที่ตัดสินใจมาอเมริกา สำหรับนักเรียนก็คือการมาเรียน แล้วนักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นที่อยากมาเรียน MBA, Engineer, Finance, Law…และอีกหลายๆ สาขาวิชายอดฮิตในเมืองไทย เก๋เองก็เหมือนกัน โหย...อุตส่าห์ทำงานด้านการตลาดมาเกือบ 10 ปี แถมสอย MBA มาแล้วเรียบร้อย เอาล่ะ...ตัดสินใจทันทีว่าจะมาต่อ Ph.d : Marketing ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป กะว่าจะมาเรียนภาษาซัก 2 ปี (เพราะภาษาอังกฤษแย่มาก) สอบ Toefl ให้ผ่าน แล้วหอบประสบการณ์การทำงานไปสมัครตามมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น UCLA, USC อะไรประมาณนั้น แต่พอมาถึงเครียดค่ะ...เครียดอยู่หลายเดือน เพราะรู้สึกกดดันเรื่องภาษา เรื่องเรียน เรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องหางาน ระหว่างเครียดก็อ่านค่ะ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยเฉพาะพวกใบโฆษณา ประกาศต่างๆ ที่ส่งๆ มาที่บ้าน แล้วก็ค้นพบอะไรหลายๆ อย่างจากการอ่านนี่แหล่ะค่ะ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการศึกษา


เจอปฏิทิน ตารางการศึกษา ของหลายโรงเรียนมีอะไรน่าสนใจมากมายเลยค่ะ สนุกใหญ่เลยทีนี้ ดูไป นั่นก็น่า เรียน นี่ก็น่าเรียน มีทั้งเรียนเอาใบประกาศนียบัตรระยะ 3-6 เดือน เรียนเอาปริญญา 1.5-4 ปี และเรียนเอาความรู้ สั้นๆ 1-5 สัปดาห์ รู้สึกทึ่งมาก ทุกอย่างเป็นการเรียนไปหมดเลย บางอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเอามาเปิดสอนเป็นเรื่องเป็นราวได้ก็มี เลยทำให้ติดอ่านโฆษณา


อย่างหนึ่งที่นิยมมากในอเมริกาคือ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ( RVN, RN) อะไรคืออะไรบ้าง ตอนนี้ก็ยังไม่แม่นข้อมูลเท่าไหร่ 555...(รู้อย่างเดียวเยอะจัง) แล้วก็กำลังเป็นที่สนใจของเหล่านักเรียนไทย เนื่องด้วยค่าจ้าง ผลตอบแทนสูงนั่นเอง บังเอิญค่ะ เก๋มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นพยาบาลจากเมืองไทย มาสอบไลเซ่น สอบผ่านด้วยค่ะ แต่ไม่มีโซเซียลฯ ก็ไม่สามารถได้ไลเซ่นเพื่อไปทำงาน เห็นบอกว่าถ้ายื่นขอวีซ่าทำงานประเภท H ก็ต้องรอคิว ซึ่งมีพยาบาลต่างชาติรอคิวอยู่ 3-5 แสนราย (5 ปีจะหมดหรือป่าวก็ไม่รู้) ประกอบกับทางอเมริกาเองก็มีกระตุ้นให้พลเมือง เรียนพยาบาล เพื่อไม่ต้องจ้างพยาบาลต่างชาติ เรียกว่ามีแผนกีดกันนั่นเอง


ส่วนน้องอีกคนนึง เคยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนที่เก๋ทำงาน เค้าไปเรียนพยาบาล ที่ College แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับต้นๆ ของแคลิฟอร์เนีย เรียนได้ 1 ปีแล้ว ได้แต่เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เพราะต้องเข้าคิวเพื่อจะเรียนโปรแกรม พยาบาลจริงๆ 2 ปี ว่าจะได้เป็นพยาบาลอย่างต่ำๆ คง 4-6 ปี ตอนนั้นพลเมืองอเมริกันที่จบพยาบาลก็คงเต็มเมืองไปหมด แล้วจะไปแย่งงานกับเค้าได้ไหมเนี่ย ว่าแล้วก็บ๊ายบาย...พยาบาล ไม่เอาดีกว่า


คือตอนนั้นเก๋ก็เปลี่ยนใจไม่เรียนอย่างที่ตั้งใจละ ก็หาไปเรื่อยๆ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง ระหว่างหาก็ไปเรียนอะไรสั้นๆ แค่พอสนองความอยากรู้ เช่น Palarlegal: UCLA extension, Photo: SMC extension, Real estate: WLACC extension เป็นต้น มีคนถามว่ารู้ได้ยังไงว่าที่ไหนมีอะไรเรียน ก็แหม...อินเตอร์เน็ตไงคะ เข้าเว็บไซต์ของสถาบัน แล้วก็ระบุคำที่เราอยากรู้ ก็จะมีเยอะแยะมากมาย แล้วก็สมัครรับวารสารจากโรงเรียนซะด้วย เดี๋ยวก็ส่งมาที่บ้านเต็มไปหมด สำคัญคือขยันอ่านหน่อย อ่านมากรู้มากค่ะ


แล้วที่รู้อีกอย่างคือ การต่อรอง ที่นี่เค้าให้โอกาสสำหรับทุกคนที่อยากเรียน ไม่แน่ใจว่าจะชอบไหม หรือจะเรียนได้ไหม ก็ขอทดลองเรียนได้ และที่สำคัญมีข้อจำกัดอะไรก็บอกเค้า อย่าอาย มีอะไรก็บอกเค้าไปตรงๆ แล้วเค้าก็จะช่วยหาทางออกให้ เช่น ตอนนี้ยังไม่ได้สอบ Toefl แบงค์สเตทเม้นยังไม่พร้อม ขอเป็นนักเรียนพาสไทม์ก่อน เป็นต้น โรงเรียนที่เป็นเอกชน (บางสถาบันของรัฐก็ด้วย) ส่วนใหญ่จะอะลุ่มอล่วยให้ เอาเป็นว่าสงสัยอะไรก็ถาม แล้วก็หัดยื่นข้อเสนอ ไม่ต้องอายค่ะ ได้เค้าก็บอกว่าได้ ไม่ได้เค้าก็บอกว่าไม่ได้ แค่นี้เอง


แล้วในที่สุดเก๋ก็หาที่เรียนเป็นจริงเป็นจังได้ซะที Acupuncture & Oriental Medicine ก็คือการแพทย์ตะวันออก และการฝังเข็ม บังเอิญเพื่อนชาวมองโกเลีย เปิดเว็บไซต์ทิ้งไว้ เราเห็นก็สนใจแล้วก็คุยกัน ปรากฎว่าเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่เปิดมากว่า 80 ปี และเป็นมหาวิทยาลัยฝังเข็มที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา หลักสูตรเป็นปริญญาโท 4 ปี และปริญญาเอก 2 ปี ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านการแพทย์ เพียงแค่จบเทียบเท่าปริญญาตรีก็เรียนได้แล้ว (เรียนให้จบก็แล้วกัน) แถมยังสามารถเทียบโอนบางวิชาได้ด้วย โอ้ว...เก๋ศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์อยู่หลายวัน จนแน่ใจว่านี่คือสิ่งที่เราอยากเรียน


1. เป็นสาขาวิชาที่น่าสนใจ
2. เป็นวิชาชีพเฉพาะทางอยู่ที่ไหนก็ทำมาหากินได้
3. ได้ดีกรีเป็นหมอ
4. ค่าเรียนไม่แพง
5. เวลาเรียนเหมาะเจาะ (เรียนเฉพาะตอนเย็น 6-9 pm)
6. เมื่อเรียนจบแล้ว ไปสอบไลเซ่นให้ผ่าน ก็สามารถเปิดคลินิค หรือทำงานในโรงพยาบาลได้
7. เนื่องจากเป็นปริญญาโท เมื่อฝึกงาน (OPT) ก็จะได้หมายเลขโซเซียลทันที ถ้าเทียบกับพยาบาลเป็นแค่ประกาศนียบัตร ไม่มี OPT ก็ไม่ได้โซเซียล
8. ยังมีคนเรียนน้อย โอกาสด้านการทำงาน หรือ apply greencard ก็มีมากกว่า
9. เป็นการแพทย์ทางเลือกที่เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น และนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตจะเป็นตลาดที่กว้างมาก เป็นการลงทุนที่คุ้มทีเดียว ทั้งหมดนี้ก็คือการวิเคราะห์สำหรับการตัดสินใจของเก๋


ส่วนการติดต่อเข้าเรียนนั้น ก็ได้รับการบริการอย่างดีจากมหาวิทยาลัย และบังเอิญว่าที่นี่มีอาจารย์หมอ ที่เป็นคนไทยอยู่ด้วย ก็เลยได้รับความสะดวกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเก๋ต่อรองกับมหาวิทยาลัยหลายอย่าง เช่น ยังไม่มีผล Toefl และขอเป็นแค่ นักเรียนพาสไทม์ (คือยังไม่เอา I-20) เพราะอยากลองเรียนดูก่อนว่าเราเรียนไหวไหม ลงเรียนแค่เทอมละ 1-2 วิชา จนเมื่อพร้อม และมั่นใจค่อยย้ายมาเรียนเต็มเวลา เค้าก็โอเค


นี่เป็นแค่ตัวอย่างจากตัวเก๋เอง ส่วนเพื่อนนักเรียนที่อ่านคอลัมน์นี้ ก็ลอง เอาไปปรับใช้กับตัวเองดูนะคะ ที่แน่ๆ อ่านเยอะๆ รู้มากๆ จะเป็นการเพิ่มโอกาส อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน ขอให้เรียนให้รอด ไม่ต้องลำบากสอบเอนทรานซ์ แข่งขันกันทีเป็นแสนๆ เหมือนอยู่เมืองไทย แล้วไหนๆ ก็มาถึงที่นี่แล้ว ให้มีอะไรติดไม้ติดมือกลับเมืองไทย และได้ภูมิใจในตัวเอง

สุดท้ายถ้าใครสนใจอยากเรียนเป็นหมอฝังเข็ม ก็โทร.มาถามรายละเอียดกับเก๋ได้ที่ โทร.310-990-8092 หรืออีเมล์ peena.kay@gmail.com จะได้มาช่วยกันเรียน อิอิ...


No comments:

Post a Comment

Leave your massage to Peena