Thursday, June 25, 2009

โอกาสในการได้มาของวีซ่านักเรียน

วีซ่านักเรียน (F1) จัดว่าเป็นวีซ่าที่เข้า-ออก ประเทศอเมริกาได้สะดวกที่สุด ดังนั้น จึงเป็นทางเลือกที่น่าปรารถนา ของทั้งผู้ที่มีจุดประสงค์มาเรียนจริงๆ และผู้ที่มีจุดประสงค์แอบแฝง (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) แต่การได้มาก็ต้องเตรียมพร้อม ผู้ที่พร้อมจึงจะได้มา แล้วยังไงที่เรียกว่าพร้อม???

1. กรณีเคยเปลี่ยนวีซ่า (สถานะ) ที่อเมริกา

ที่เอากรณีนี้ขึ้นก่อน เพราะว่าเมื่อ 2 ตอนที่แล้ว เราคุยเรื่องเปลี่ยนสถานะกันนั่นเอง ซึ่งโดยปกติเวลาเปลี่ยนสถานะ เราจะพูดติดปากกันว่า เปลี่ยนแล้วกลับไทยไม่ได้ เหมือนถูกขังอยู่ในอเมริกา ก็อย่างที่บอกว่าการเปลี่ยนสถานะ ทางอิมฯ เค้าจะรับรองสถานะการเป็นนักเรียนต่อเมื่อคุณอยู่ในอเมริกาเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากลับไทย ก็ต้องไปขอเปลี่ยนวีซ่ากลับมาให้ถูกต้อง (ตอนที่เปลี่ยนสถานะที่อเมริกานั้น เข้ามาด้วยวีซ่าประเภทอื่น เช่น ท่องเที่ยว ออร์แพ เป็นต้น) เนื่องจากว่าต้นทางของวีซ่าที่คุณได้รับมาอยู่ที่ประเทศไทย ดังนั้น คุณจะต้องกลับไปเปลี่ยนวีซ่าที่ต้นทางนั่นเอง

ดังนั้น หลายคนที่เปลี่ยนสถานะจึงเครียด เพราะต้องอยู่ให้นานที่สุด แบบว่าเรียนให้จบทีเดียวแล้วค่อยกลับไทย จะคิดถึงบ้านแค่ไหนก็ต้องจำอยู่ไป จริงๆ แล้ว ถามว่าถ้ากลับไปแล้วไปเปลี่ยนวีซ่ามาให้ถูกต้องยากไหม โอกาสได้มีหรือป่าว จะโดนแบนไหม....ตอบว่าโอกาสนะมี แต่มันต้องดูเหตุและผล ว่าสอดคล้องกัน น่าเชื่อถือแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คุณต้องแสดงเจตนาว่ายังไงก็จะกลับไทย ปิดช่องที่จะทำให้เห็นว่าตั้งใจมาอยู่อเมริกาตลอดชีวิตให้มิด ขอยกตัวอย่างทั้งกรณีที่ดูแล้วยังไงก็ไม่ผ่าน และกรณีโอกาสที่จะผ่านมีสูงก็แล้วกันค่ะ

Case I น้องตูน (นามสมมติ)

มาอเมริกาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว (B1/B2) และ I-94 แสตมป์ให้อยู่ได้ 6 เดือน น้องตูนปรึกษาทนายความเพื่อยื่นร้องขอเปลี่ยนสถานะ แล้วได้รับอนุมัติตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ตลอด 2 ปี น้องตูนเรียนภาษาอยู่ในโรงเรียนสอนภาษาเอกชน จนกระทั่งตัดสินใจว่าจะกลับเมืองไทย แล้วไปขอเปลี่ยนวีซ่ากลับมา ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง ถือ I-20 จากโรงเรียนที่เรียนอยู่กลับไป + จดหมายรับรองจากโรงเรียน + หลักฐานทางการเงิน และอื่นๆ ปรากฏว่า....โดนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ไม่เชื่อว่ามาเรียน และความผูกพันกับประเทศไทยน้อย

ผลการวิเคราะห์

1. รวมระยะเวลาอยู่ในอเมริกานับตั้งแต่เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว จนกระทั่งเปลี่ยนสถานะ 2.5 ปี (เกือบๆ 3 ปี) ภาษาอังกฤษน่าจะดีเกินกว่าจะเรียนภาษาอีก

2. โรงเรียนที่เรียนมาตลอด 2 ปี เป็นโรงเรียนเอกชนราคาประหยัด แถมอยู่ใน lists ถูกจ้องมองว่าขาย I-20 อีกต่างหาก

3. น้องตูนเรียนภาคค่ำ แล้วกลางวันไปทำอะไรล่ะ?

4. ตอบจุดประสงค์การเปลี่ยนสถานะไม่ตรงกับจดหมาย Education Plan ที่ยื่นไปตอนเปลี่ยนสถานะ (เนื่องจากทนายความเป็นคนร่างให้ น้องตูนเลยไม่ทราบว่าเขียนว่ายังไง)

5. แผนการศึกษาไม่ชัดเจน (จากคำตอบของน้องตูนที่ว่า จะเรียนภาษาไปจนกว่ามั่นใจ แล้วจึงจะเข้าเรียนต่อใน College) ซึ่งแสดงเจตนาว่าไม่มีกำหนดกลับไทยที่แน่นอน

6. ความผูกพันกับประเทศไทยมีน้อย หลักๆ ก็เรื่องงาน ก่อนไปอเมริกาทำงานในบริษัทใหญ่ มั่นคงก็จริง แต่ตอนที่ขอวีซ่าท่องเที่ยวไปครั้งแรกนั้น ยื่นจดหมายลาพักร้อนไป แต่สุดท้ายก็ไม่กลับมา (ขอลาออกตอนที่ได้อนุมัติเปลี่ยนสถานะ) และไปอยู่อเมริกาเกือบ 3 ปี อายุ ณ ตอนนี้ 30 ปี ก็ยากที่จะกลับมาหางานทำที่เมืองไทย (กว่าจะเรียนจบปาไป 30 กลางๆ)

Case II น้องเจน

มาอเมริกา 3 ปีที่แล้วด้วยวีซ่า J1 (ออร์แพ) ทำงานอยู่ 2 ปี ก่อนจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นนักเรียน 1 ปี รวมเป็น 3 ปีพอดี โดยโปรแกรมที่เรียนคือ TOEFL ทั้งนี้ ตอนที่ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนสถานะ ได้แจ้งจุดประสงค์การเปลี่ยนว่า เรียน TOEFL เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย และเรียนต่อในด้านกฎหมาย ซึ่งก็ทำตามแผน คือตอนนี้เรียนปริญญาโท ใน Law School ชื่อดังแห่งหนึ่ง ตามหลักสูตรจะต้องเรียนทั้งหมด 2 ปี ตอนนี้เรียนมาได้เพียง 1 เทอม ยังเหลืออีก ปีกว่าๆ จึงจะจบ แต่จำเป็นต้องกลับเมืองไทยเพื่อไปทำธุระบางอย่าง จึงแจ้งทางโรงเรียนว่าขอพักการเรียน 1 เทอม กลับเมืองไทย ทางโรงเรียนจึงออกเอกสารสำหรับยื่นประกอบการขอวีซ่านักเรียนให้กับน้องเจน ดังนี้

1. I-20 ที่มีลายเซ็นต์ผู้รับผิดชอบนักเรียนต่างชาติด้านหลัง (ปกติ I-20 ของนักเรียนที่เรียนในโปรแกรมการศึกษา จะมีอายุครอบคลุมไปจนจบหลักสูตร อย่างของน้องเจนคือมีอายุ 2 ปี)
2. จดหมายรับรองการเป็นนักศึกษาจากโรงเรียน พร้อมระยะเวลาการลาเรียน ผลคือ น้องเจน ได้รับอนุมัติวีซ่านักเรียน โดยอายุของวีซ่าคือ 5 ปี

ผลการวิเคราะห์

1. ความสอดคล้องตั้งแต่การขอเปลี่ยนสถานะ จนกระทั่งการกลับไปขอวีซ่าสมเหตุสมผล แสดงเจตนาว่าต้องการเรียนจริงๆ ไม่ใช่แค่ต้องการจะอยู่ในอเมริกาเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยชื่อเสียงของโรงเรียนที่เรียน มีส่วนช่วยถึง 80%

2. หลักฐานทางการเงินที่แสดงความสามารถว่า สามารถเรียนได้จนจบหลักสูตรโดยไม่ต้องทำงาน คือ หลักสูตรเหลืออีก 1 ปีกว่าๆ (ตีว่า 2 ปีละกัน) รวมการฝึกงานอีก 1 ปี ก็ประมาณ 3 ปีทั้งหมด น้องเจนโชว์ แบงก์สเตทเมนท์ 80,000 เหรียญ (เหลือเฟือสำหรับ 3 ปี จากการประมาณค่าเรียน + ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนละ 2,000 เหรียญ 36 เดือนก็ 72,000 เหรียญ)

3. มีแผนการศึกษา และหลังจบการศึกษาชัดเจน คือ แจ้งว่าหลังจบการศึกษาแล้ว จะกลับมาช่วยบริษัทของคุณพ่อ ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่เมืองไทย โดยกลับมารับตำแหน่ง ที่ปรึกษาลูกค้าต่างประเทศ ภาคพื้นอเมริกา พร้อมหลักฐานเกี่ยวกับบริษัทด้วย

ทั้ง 2 ตัวอย่าง น่าจะช่วยให้คุณๆ ได้ไอเดียแล้วว่ายังไง ถึงจะมีโอกาสสูงในการได้วีซ่า หากจำเป็นต้องกลับไปเปลี่ยนวีซ่าที่เมืองไทย หลังจากเปลี่ยนสถานะที่อเมริกาแล้วจริงๆ ส่วนตอนหน้าเรามาคุยเรื่องโอกาสการได้ วีซ่าสำหรับผู้ที่ได้วีซ่านักเรียนแค่ 1 ปี แล้วจะกลับไปต่อวีซ่าที่เมืองไทยกันนะคะ

และฝากสำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดโรงเรียนสอนภาษา และเปลี่ยนสถานะ ก็ติดต่อเก๋มาได้ค่ะที่ peena.kay@gmail.com or Tel. 310-990-8092